การพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร
โครงงานคอมพิวเตอร์เป็นการนำความรู้ด้านการเขียนโปรแกรม หรือการใช้ซอฟต์แวร์ประยุกต์ เพื่อผลิตผลงานสำหรับการแก้ปัญหา หรือนำผลงานมาประยุกต์ในงานจริง การทำโครงงานจะต้องใช้ความรู้ ประสบการณ์ และการศึกษาค้นคว้า เพื่อวางแผนและดำเนินการพัฒนา โดยสามารถเลือกใช้เครื่องมือพัฒนาที่เป็นซอฟต์แวร์ประยุกต์หรือภาษาคอมพิวเตอร์ตามความเหมาะสมของชิ้นงาน ทั้งนี้ควรขอคำปรึกษาจากครูผู้สอน หรือผู้ทรงคุณวุฒิ เป้าหมายสูงสุดของการทำโครงงานคือ การนำโครงงานไปใช้งาน และก่อให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริง
โครงงานคอมพิวเตอร์มีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับมุมมองในการพิจารณา เช่น วัตถุประสงค์การนำไปใช้ หรือกระบวนการในการสร้างผลผลิต โดยทั่วไปโครงงานคอมพิวเตอร์สามารถแบ่งได้ดังนี้
๑ ประเภทของโครงงานคอมพิวเตอร์๑.๑) สื่อเพื่อการศึกษา
เป็นโครงงานที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน โดยอาจสร้างเป็นโปรแกรมบทเรียน หรือบทเรียนออนไลน์ ที่อาจมีแบบฝึกหัดหรือคำถามเพื่อทดสอบ โครงงานประเภทนี้สามารถพัฒนาขึ้นเพื่อประกอบการเรียนการสอนในเนื้อหาวิชาต่าง ๆ เช่น บทเรียนออนไลน์เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ บทเรียนออนไลน์เรื่องชุดกล่องสมองกล หนังสือเรียนอิเล็กทรอนิกส์เรื่องสำนวนสุภาษิต
๑.๒) พัฒนาเครื่องมือ
โครงงานพัฒนาเครื่องมือเป็นโครงงานที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการพัฒนาโปรแกรมช่วยงานด้านต่าง ๆ เช่น โปรแกรมพิมพ์งาน โปรแกรมวาดรูป โปรแกรมสร้างภาพเคลื่อนไหว โปรแกรมคำนวณภาษี
๑.๓) จำลองทฤษฎี โครงงานจำลองทฤษฎีเป็นโครงงานที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการพัฒนาโครงงานเพื่อจำลองการทดลองทฤษฎีในด้านต่าง ๆ เช่น การทดลองเรื่องการไหลของของเหลว การจำลองการเคลื่อนที่ตามกฎข้อที่ ๒ ของนิวตัน การจำลองการตกของวัตถุ
๑.๔) ประยุกต์
โครงงานประยุกต์เป็นโครงงานที่นำคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ร่วมกับอุปกรณ์อื่นในการสร้าง หรือประดิษฐ์สิ่งของที่เป็นประโยชน์ หรือปรับปรุงเครื่องมือที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ตัวอย่างโครงงานตรวจสอบควันพิษในอากาศ โครงงานบ้านอัตโนมัติ
๑.๕) เกม
โครงงานเกมเป็นโครงงานที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการพัฒนาโปรกรมเกมเพื่อการศึกษาเพื่อความบันเทิง โดยเกมที่พัฒนาขึ้นจะเน้นการใช้สมองในการฝึกความคิดอย่างมีหลักการ ตัวอย่างโครงงาน เช่น เกมทายคำศัพท์ ตะลุยมหันตภัยโลกร้อน
ประโยชน์ของการทำโครงงานคอมพิวเตอร์
๑) ได้เรียนรู้แนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดจากการทำโครงงาน
๒) ส่งเสริมกระบวนการคิด การแก้ปัญหา และการตัดสินใจ
๓) ได้รับประสบการณ์ในการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อแก้ปัญหา
๔) ส่งเสริมให้ใช้เวลาอย่างเป็นประโยชน์และสร้างสรรค์
๒. ขั้นตอนการทำโครงงาน
๒.๑ การเลือกหัวข้อโครงงาน หัวข้อโครงงานได้มาจากความต้องการความสนใจในการแก้ปัญหา หรือประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน สังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัว หรือศึกษาจากโครงงานที่มีผู้พัฒนาแล้วและนำแนวทางมาพัฒนาต่อ ตั้งชื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหา กระชับ น่าสนใจ ตัวอย่างหัวข้อโครงงาน เช่น
โครงงานเครื่องเตือนภัยน้ำท่วม
โครงงานเครื่องคิดเลขอัจฉริยะ
โครงงานตรวจสอบควันพิษในอากาศ
โครงงานสื่อออนไลน์พันธุ์ไม้ในโรงเรียน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น